ปัจจุบันการบริโภคเห็ดมีแนวโน้มที่สูงขึ้น เนื่องจากเห็ดเป็นอาหารสุขภาพและเป็นแหล่งอาหารโปรตีนจากธรรมชาติที่ปราศจากไขมัน มีปริมาณน้ำตาลและเกลือค่อนข้างต่ำ แต่อุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุจำนวนมาก การเพาะเห็ดเพื่อจำหน่าย จึงเป็นอาชีพหนึ่งที่ประชาชนให้ความสนใจ
การผลิตเห็ดแบบครบวงจร เป็นกิจกรรมที่ต่อยอดมาจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตเห็ดและการเพิ่มแหล่งอาหารเห็ดให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ในโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของหมู่บ้าน ชุมชน แบบมีส่วนร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชนมมายุครบ 60 พรรษา ของมหาวิทยลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ณ บ้านวอแก้ว ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2557-2559) โดยอาจารย์ชัยธวัช จารุทรรศน์ เป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรม
ในปี 2558 คณะทำงานได้ดำเนินงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานภาคีเครือข่าย ปรับปรุงกระบวนการถ่ายทอดการผลิตเห็ดให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจง่ายในแต่ละขั้นตอน กล่าวคือ การบรรยายให้ความรู้ โดยเน้นการสาธิต การให้สมาชิกกลุ่มลงมือปฏิบัติและการเฝ้าสังเกตุจากวิทยากรเพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติมจากกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว นอกจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคนิคการผลิตเห็ดนางฟ้า เห็ดขอน และเห็ดลม ในกระบวนการการเขี่ยเชื้อ การเพาะเชื้อ การผลิตก้อนเห็ดแล้ว คณะทำงานยังได้เพิ่มเตอมเนื้อหาด้านบริหารจัดการกลุ่ม โดยเฉพาะด้านการตลาดและการบัญชี ให้สมาชิกกลุ่มมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของผลผลิตจากศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้สนใจทั่วไปได้มาศึกษาดูงาน
ทั้งนี้นอกจากเห็ดที่สามารถเพาะได้เองแล้ว คณะทำงานยังถ่ายทอดการเพิ่มแหล่งอาหารเห็ดในพื้นที่ป่าชุมชนเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารและรักษาทรัพยากรชุมชนด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยการนำเห็ดป่า 1 กิโลกรัมมาล้าง แล้วนำมาปั่นกับน้ำ 1 ลิตร จากนั้นนำมาผสมกับน้ำเปล่า 100 ลิตร นำน้ำที่ผสมไปเทลาดตามโคนต้นไม้ ซึ่งความชื้นในพื้นที่ป่าจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ด กิจกรรมเพิ่มแหล่งอาหารเห็ดในพื้นที่ป่าชุมชนจะดำเนินการในวันแม่แห่งชาติของทุกปี เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
การดำเนินการด้านการผลิตเห็ดแบบครบวงจรชุมชนบ้านวอแก้วมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกลุ่มเพาะเห็ดมีโรงเห็ดจำนวน 6 โรงเรือน ซึ่งสมาชิกสามารถบริหารจัดการกลุ่มได้เองโดยการสร้างเครือข่ายหน่วยงานในพื้นที่และมีคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง เป็นที่ปรึกษา และนี่คือหนึ่งกิจกรรมสร้างสรรค์ชุมตามพันธกิจด้านการวิจัยและบริการวิชาการสู่สังคม โดยการสร้างองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการต่อยอดอย่างยั่งยืน